วัดท้าวบุญเรือง

หมู่ที่ 13 วัดท้าวบุญเรือง โทรศัพท์ 053 431 513

วัดท้าวบุญเรือง ตั้งอยู่บ้านท้าวบุญเรือง หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 6 ไร่ น.ส.3ก เลขที่ 1124 อาณาเขต ทิศเหนือจดทางสาธารณะ ทิศใต้จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันออกจดลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 2 งาน 50 ตารางวา น.ส.3ก เลขที่ 1122 และ 1123 อาคารเสนาสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ และหอพระไตรปิฎก ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูปต่างๆ และเจดีย์


วัดท้าวบุญเรืองสร้างเมื่อ พ.ศ.2235 ตามแบบประวัติวัดแจ้งว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2357 โดยมีท้าวบุญเรืองเป็นผู้ริเริ่มสร้างวัด วัดท้าวบุญเรือง จากอดีตไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ที่มาบุกเบิกในพื้นที่นี้เป็นผู้ใด จากคำบอกเล่ากล่าวว่าสมัยก่อนที่วัฒนธรรมล้านนารุ่งเรือง มีบุคคล 3 คน โดยใช้ศัพท์นำหน้าว่าท่านท้าว ได้แก่ ท้าวบุญเรือง ท้าวผายู ท้าวคำวัง ทั้งสามท่าน ได้ปักหลักสร้างถิ่นฐานบนแผ่นดินล้านนา โดยกำหนดให้แยกกันอยู่ จากเหนือลงใต้ เมื่อมีถิ่นฐานมั่นคงแล้วทั้งสามจึงตั้งชื่อถิ่นฐานตามชื่อของตนเอง จึงเชื่อกันว่าบริเวณบ้านท้าวบุญเรือง ปัจจุบันนี้น่าจะเป็นหมู่บ้านที่บ้านท้าวบุญเรืองได้ปักหลักสร้างเมืองตั้งแต่ในสมัยโบราณที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเอง ต่อมาเมื่อเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ตามความเชื่อโบราณก็ต้องมีวัดประจำหมู่บ้านดังนั้นจึงได้มีความพยายามจะสร้างวัด โดยเปลี่ยนที่สร้างใหม่ถึง 4 แห่ง และมาสร้างสำเร็จเป็นวัดท้าวบุญเรืองได้ในแห่งที่ 5 คือ “วัดท้าวบุญเรือง” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดที่มีโครงสร้างสวยงามแห่งหนึ่งของตำบล สิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจ เริ่มต้นที่พระวิหาร เป็นวิหารปิด ที่มีการสร้างผนังด้านข้างทั้งสี่ด้าน มีหน้าต่าง และช่องแสงโดยรอบทุกด้าน บริเวณผนังภายในเขียนด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีการยกเก็จของผัง ลักษณะโครงสร้างของอาคาร เป็นการผสมผสานระหว่าง โครงสร้างก่ออิฐฉาบปูน กับ โครงสร้างไม้ ส่วนเครื่องบนหรือหลังคา สร้างด้วยโครงสร้างไม้ในระบบเสาและคาน หลังคาเป็นทรงจั่วมีการซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสองชั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือแป้นเกล็ด (หลังคาแผ่นไม้) บริเวณหน้าวิหารมีท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร เป็นเทพหรือยักษ์ที่ปรากฏอยู่ทั้งในศาสนาพุทธและพราหมณ์และมีผู้นิยมกราบไหว้กันมาก ตามคติความเชื่อทางศาสนาพุทธกล่าวไว้ในพระสูตรที่ชื่อว่า “อาฏานาฏิยะ”ว่า ท้าวกุเวรเป็นหนึ่งในท้าวจตุมหาราชผู้ครองสวรรค์ชั้น จตุมหาราชิกา (สวรรค์กามาวจร ชั้นที่ 1) ส่วนบริเวณด้านหลัง วิหารเป็นเจดีย์รูปแบบล้านนาสีทองอร่าม ที่รับเอาอิทธิพลแบบอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น สุโขทัย พุกาม มาผสมผสานกันพัฒนาจนเป็นรูปทรงใหม่ที่ลงตัวและใช้กันแพร่หลาย พระเจดีย์แบบล้านนานี้เป็นเจดีย์ทรงกลมเป็นฐานสูงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ เน้นชั้นมาลัยเถาที่ขยายใหญ่ขึ้น ยกสูงขึ้น องค์ระฆังถูกลดความสำคัญลงจนเหลือขนาดเล็ก มีบัวรัดรอบองค์ระฆังตามแบบพุกาม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม


การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 ครูบากันธา พ.ศ.2357 – 2405 รูปที่ 2 ครูบาสุวรรณ พงศ.2405 – 2430 รูปที่ 3 เจ้าอธิการอินถา อริยะ พ.ศ.2430 – 2493 รูปที่ 4 พระครูพระโชติบุญรักษ์ ตั้งแต่ พ.ศ.2493 เป็นต้นมา นอกจากนี้เป็นสถานที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชนตำบล